อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
วิสัยทัศน์/ยุทธศาสตร์
1. ด้านกายภาพ
1.1 ที่ตั้งตำบลช้างขวา
      กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเทศบาลตำบลช้างขวา จากองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเทศบาลเมื่อวันที่ 17 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานเทศบาลตำบลช้างขวา ตั้งอยู่ เลขที่ 202 หมู่ 3 ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร และ ห่างจาก ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลตะเคียนทอง และ ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลช้างซ้าย และตำบลทุ่งรัง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลกะแดะ และตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลทุ่งรัง ตำบลทุ่งกง และตำบลตะเคียนทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
      เนื้อที่ตำบลทั้งหมด 69.17 ตารางกิโลเมตร หรือ 43,237 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่อำเภอ พื้นที่ตำบลบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติทุ่งรัง ควนเสียดบกไก่ฟ้า คลองกง ได้แก่พื้นที่บางส่วนของหมู่ที่ 8 และพื้นที่ทั้งหมดของหมู่ที่ 10 มีจำนวน 14 หมู่บ้าน อยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลช้างขวา
      ในสมัยก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าใหญ่ มีบ้านเรือนราษฎรอาศัยอยู่โดยทั่วไป ได้มีช้างโขลงหนึ่งเข้ามาทำลายบ้านเรือนและพืชผลของราษฎรได้รับความเสียหาย โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม(โขลง) หนึ่งวิ่งแยกไปทางด้านซ้ายและอีกกลุ่มหนึ่งวิ่งแยกไปทางขวา ต่อมาพื้นที่แห่งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ตำบล โดยยึดหลักที่ช้างป่าวิ่งไปทางซ้ายเป็นตำบลช้างซ้ายและที่ช้างป่าวิ่งไปทางด้านขวา เรียกเป็นตำบลช้างขวาจนถึงปัจจุบันนี้
ประวัติเกี่ยวกับตำบลช้างขวา
      เมื่อก่อนมีนายซิ่น บ้านเดิมอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลช้างซ้าย และมีเพื่ออีกคน ชื่อ นายเขียว พื้นเพเดิมอยู่ที่บ้านพุฒ ปัจจุบันตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 ตำบลช้างขวาทั้งสองท่านมีอาชีพรับจ้างจับช้างป่าขาย เพื่อนำไปฝึกไว้ใช้งาน ซึ่งในสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าและมีช้างอยู่มาก ทั้งสองได้ไปทำคอกดักช้างที่บ้านคลองสระ ตำบลป่าร่อนในปัจจุบัน และได้จับช้างเผือกได้ 1 เชือกเป็นช้างพังจึงได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ท่านทรงได้พระราชทานสิ่งของต่างๆ ให้แก่บุคคลทั้งสอง อันได้แก่ ผ้าไหมแพร เงิน ทองคำ เป็นต้น และได้พระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็น ท่านขุน ให้ดูแลปกครองประชาชนในสมัยนั้น ดังนี้
1. นายซิ่น แต่งตั้งให้เป็น ขุนคชาเชนทร์
2. นายเขียว แต่งตั้งให้เป็น ขุนบริบาลคชภูมิ
      เมื่อท่านขุนทั้งสองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และสิ่งของต่างๆ แล้วจึงได้กราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับ และพระองค์ยังได้พระราชทานช้างให้อีกคนละ 1 เชือก เมื่อเดินทางมาถึงทางสองแพร่ง ทั้งสองได้แยกย้ายกันไปคนละทางสู่หมู่บ้านของตนเอง โดย ขุนคชาเชนทร์ แยกไปทางซ้ายและปกครองประชาชนในพื้นที่นั้น และให้ชื่อตำบลที่ตนเองปกครองว่า ตำบลช้างซ้าย ตามช้างที่นำมาแล้วแยกไปทางซ้ายมือ ส่วนขุนบริบาลคชภูมิ ได้นำช้างและสิ่งของพระราชทานแยกไปทางขวา สู่หมู่บ้านของตนเอง และปกครองประชาชนในพื้นที่นั้น โดยใช้ชื่อตำบลที่ตนเองปกครองว่า ตำบลช้างขวา ตามช้างที่นำมาแยกไปทางขวามือ
      ดังนั้น ตำบลช้างขวาจึงเป็นชื่อตำบลที่เก่าแก่มีมานานแล้วตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่สามารถระบุปี พ.ศ.ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งในตำบลนี้มีกำนันปกครองต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้มี 11 คน กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเทศบาลตำบลช้างขวา จากองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเทศบาลเมื่อวันที่ 17 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552
วิสัยทัศน์
“สร้างปัจจัยพื้นฐาน สืบสานวัฒนธรรม มุ่งนำการศึกษา สิ่งที่ผ่านมาจะได้รับการแก้ไข”
ในปี 2553 – 2557 เทศบาลตำบลช้างขวา จะเป็นองค์กรที่มีมิติใหม่ของการบริหารจัดการด้านการสร้างปัจจัยพื้นฐาน ศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการศึกษา ซึ่งถือเป็นการพัฒนาหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาให้เทศบาลตำบลช้างขวาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เทศบาลตำบลช้างขวามีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอทันสมัย มีการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมด้านการศึกษาให้ได้มาตรฐานรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างอาชีพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การให้บริการสาธารณะ การบริหารจัดการ ชุมชนให้เข้มแข็ง นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี
พันธกิจ
1.จัดให้มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย
2.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีมีรายได้ที่เพียงพอและยึดหลักการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
3.ส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาของท้องถิ่นให้อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน
4.อนุรักษ์และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.พัฒนาการเมือง การบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
6.ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง
7.ส่งเสริมการรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตำบลและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
8.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม